ยินดีต้อนรับทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม Blogger รอบรู้เรื่องโคเนื้อ - โคนม ขอให้มีความสุขกับการศึกษาความรู้นะค่ะ

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

อุตสาหกรรมโคเนื้อในประเทศไทย

          อุตสาหกรรมโคเนื้อของไทยแม้ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ถือได้ว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน และรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมาก็ได้ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด  เดิมการเลี้ยงโคของไทย เป็นการเลี้ยงเพื่อใช้งานในการทำการเกษตรเป็นหลัก เมื่อใช้งานจนหมดอายุจึงปลดจำหน่ายเป็นโคเนื้อ ต่อมาเมื่อมีการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น เครื่องไถดิน พรวนดิน หรือนวด ซึ่งง่ายต่อการดูแลและใช้งานได้ตลอดเวลามาใช้มากขึ้น ทำให้การใช้โคเพื่องานทำการเกษตรลดน้อยลงเป็นลำดับ ปัจจุบันรูปแบบการเลี้ยงโคได้เปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นโคเนื้อ ทั้งนี้เพราะความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการของประชากรในประเทศเองและของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ลักษณะการเลี้ยงจะเป็นการเลี้ยงครั้งละหลายๆ ตัว และมีรูปแบบเป็นฟาร์มมากขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ และเป็นโครงการหนึ่งในแผนปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร โดยหวังจะให้การเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อทดแทนการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังข้าวนาปีในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม  อาจกล่าวได้ว่าจากปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นรวมถึงการส่งเสริมจากรัฐทำให้ในปัจจุบันเกษตรกรหันมาเลี้ยงโคเนื้อเพื่อการค้ากันมากขึ้น

          โคเนื้อที่เลี้ยงในประเทศไทยแต่เดิมเป็นพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งขนาดค่อนข้างเล็ก ขนสั้นเกรียนมีหลายสี มีน้ำหนักน้อยประมาณ 200-350 กิโลกรัม สามารถหากินและเติบโตจากการหาหญ้ากินเองตามธรรมชาติ โตช้าแต่มีความต้านทานโรคเมืองร้อนได้ดี ระยะต่อมา มีการนำโคพันธุ์ดีจากต่างประเทศเข้ามาผสมกับโคพันธุ์พื้นเมือง เพื่อให้ได้โคลูกผสมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังคงมีความต้านทานโรคเมืองร้อน ซึ่งพันธุ์ที่นิยมและเหมาะสมที่สุดทั้งด้านใช้แรงงานและให้เนื้อ คือพันธุ์บราห์มัน ปัจจุบันนิยมเลี้ยงพันธุ์ออสเตรเลียบราห์มัน และอเมริกันบราห์มัน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ทางรัฐให้การส่งเสริม นอกจากนี้ยังมีการนำพันธุ์โคอื่นๆเข้ามาผสมกับโคพื้นเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติให้เนื้อโดยตรงและสามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมของไทยได้ดี คือ พันธุ์ชาร์โรเล่ส์ ลิมูซีน และเฮียฟอร์ด เป็นต้น




        จากสถิติพบว่าการเลี้ยงโคเนื้อในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วงปี 1993 1998 คือในปี 1993 มีโคเนื้อ จำนวน  7.24 ล้านตัว ลดลงเป็น 4.57 ล้านตัว ในปี 1998 หรือมีอัตราการลดลงเฉลี่ยร้อยละ 8.42 สาเหตุการลดลงอย่างมากของการเลี้ยงโคเนื้อในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเนื่องมาจาก เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตในอัตราที่สูงแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม  ซึ่งในขณะนั้นภาคการเกษตรถูกมองว่าให้ผลตอนแทนน้อย ทำให้แรงงานเปลี่ยนจากการทำงานในภาคการเกษตรเข้ามาสู่การทำงานภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น อีกทั้งการบริโภคโคเนื้อในประเทศไม่เป็นที่นิยม  และเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นสูง หาสินค้าอื่นทดแทนได้ ทำให้ราคาของโคเนื้อไม่สามารถปรับตัวให้ขึ้นสูงได้ ผลตอบแทนที่เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อได้รับจึงต่ำ และจากที่จำนวนโคเนื้อที่เลี้ยงลดลงทำให้ปริมาณการผลิตโคเนื้อในช่วงปี 1993-1998 ลดลงด้วย คือในปี 1993 มีปริมาณการผลิตโคเนื้อ 1.37 ล้านตัว ลดลงเป็น 0.94 ล้านตัวในปี 1998 หรือมีอัตราการลดลงเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี




              ภายหลังจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 1998 ราคาโคเนื้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งรัฐบาลให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้เลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพ เกษตรกรจึงหันมาเลี้ยงโคเนื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนเลี้ยงโคเนื้อมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติจะพบว่าในปี 2003 มีโคเนื้อ จำนวน 5.9 ล้านตัว หรือมีอัตราการเพิ่มจากปี 1998 เฉลี่ยร้อยละ 5.28 ต่อปี ส่วนปริมาณการผลิตก็มีแนวโน้มเพิ่มตามขึ้นมา ซึ่งในปี 2003 มีปริมาณการผลิตคาดการณ์เท่ากับ 0.96 ล้านตัว หรือมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมาเท่ากับร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อปี 1998 มีจำนวน 706,187 ราย เพิ่มเป็น 991,000 ราย ในปี 2003 หรือมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 7.06 ต่อปี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น